วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ที่มาของภาษาไทย


"อักษรไทย"สร้างตัวตน ความเป็น"คนไทย"
         เริ่มจากอักษรของชมพูทวีป ส่งแบบแผนให้เกิดอักษรทวารวดี จนมีพัฒนาการเป็นอักษรขอม อักษรมอญ อักษรกวิ ในที่สุดก็ส่งแบบแผนอีกทอดหนึ่งให้เกิดเป็นอักษรไทย ส่งผลให้เกิดมีตัวคนความเป็น "คนไทย" ขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากรัฐละโว้ไปเป็นรัฐอโยธยา เมื่อราวหลัง
พ.ศ.๑๗๐๐ อักษรไทย ได้จากอักษรขอม (เขมร) รัฐละโว้ (ลพบุรี) เกือบทั้งหมด แต่มีบางตัวอักษรได้จากมอญบ้างและประดิษฐ์ขึ้นใหม่บ้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงพูดภาษาไทยที่ไม่มีในภาษาอื่น

"ขอม" เมืองละโว้
        ละโว้เป็นรัฐประชาชาติ ที่มีประชากรหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายปะปนอยู่ด้วยกันแล้วล้วนเป็น "เครือญาติ" กันทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเป็น เครือญาติชาติภาษา เพราะในยุคนั้นภาษายังร่วมกันใกล้ชิดกว่าทุกวันนี้จนแยกไม่ได้แน่นอนเด็ดขาดอย่างปัจจุบัน
ประชากรรัฐละโว้นับถือศาสนาต่างกันอย่างน้อย ๓ ศาสนา คือ ศาสนาผี เป็นของพื้นเมืองดั้งเดิม ศาสนาพราหมณ์ กับ ศาสนาพุทธ รับจากชมพูทวีป (อินเดีย) เฉพาะศาสนาพุทธ ครั้งนั้นกำลังยกย่องนิกาย มหายาน ที่มีต้นแบบอยู่เมืองพิมาย (เมืองนครธมก็ได้แบบไปจากเมืองพิมายด้วย) ซึ่งล้วนสร้างศาสนสถานด้วย หิน ที่เรียกภายหลังว่าปราสาทหิน เช่น ปราสาทหินพิมาย เป็นฝ่ายพุทธมหายาน
คนสมัยต่อมาที่นับถือพุทธเถรวาท มีความทรงจำเรียกพวกนับถือพราหมณ์กับมหายาน เมืองละโว้ อย่างรวมๆ ว่า "ขอม" ทั้งหมด โดยไม่ได้จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์หรือชาติภาษา มีหลักฐานเก่าสุดอยู่ในจารึกวัดศรีชุม (เมืองสุโขทัย) ซึ่งเป็นจารึกภาษาไทยเก่าสุดของรัฐสุโขทัยในคำว่า "ขอมเรียกพระธม" กับชื่อ "ขอมสบาดโขลญลำพง"

อักษรขอม ก็คืออักษรเขมร
        เมื่อเรียกชาวละโว้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ขอม เลยเรียกตัวอักษรที่ชาวละโว้ใช้ทางศาสนาว่า อักษรขอม ด้วยศาสนากับอักษรเป็นสิ่งคู่กัน เพราะอักษรใช้ในงานศาสนา ฉะนั้น อักษรจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของคนยุคนั้น ผู้รู้อักษรก็เป็นบุคคลพิเศษ ได้รับการยกย่องเป็น "ครู" เสมอนักบวชหรือผู้วิเศษ ถึงขนาดมีอาคมบันดาลสิ่งต่างๆ ได้ คนในตระกูลไทย-ลาวสมัยก่อนๆ ยกย่องผู้รู้อักษรขอมว่า "ครูขอม" การลงคาถาอาคมที่เรียกว่า "ลงอักขระ" ตามสิ่งต่างๆ ต้องใช้อักษรขอม ก็คืออักษรเขมรนั่นเอง ยังใช้อย่างยกย่องสูงยิ่งสืบถึงปัจจุบัน ดังที่ จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายในหนังสือเกี่ยวกับชนชาติ ขอม
อักษรขอมไทย เขียนคำภาษาไทย ด้วยอักขรวิธีไทย ลงบนสมุดไทย เป็นตำรับตำรากฎหมายและวรรณคดีต่างๆ นี่เอง นานเข้าก็วิวัฒนาการเป็นตัวอักษรอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกกันภายหลังว่าอักษรไทย ดังจะเห็นรูปอักษรบางตัวยังเป็นอักษรเขมร เช่น ฎ ฏ ฐ ฑ ณ ญ เป็นต้น รวมทั้งเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ก็ได้จากเลขเขมรชัดๆ
 
"อักษรไทย" มาจากอักษรขอม (เขมร)
       อักษรไทย ไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์การประดิษฐ์คิดค้นของใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว และเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดมีขึ้นในปีหนึ่งปีใดเพียงปีเดียว แต่ อักษรไทย ต้องเกิดจากความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสังคม ด้วยพลังผลักดันของศาสนา-การเมือง และวัฒนธรรมของสังคมในสยามประเทศเป็นระยะเวลายาวนานมาก่อนเป็นอักษรไทย โดยวิธีดัดแปลงจากอักษรที่มีอยู่ก่อนและใช้กันมาก่อนอย่างคุ้นเคย
ถ้านับจากอักษรไทย ย้อนกลับไปหารากเหง้า จะพบว่าได้แบบจากอักษรเขมรที่เรียก "อักษรขอม" ย้อนกลับไปเก่ากว่าอักษรขอมจะพบอักษรทวารวดี อักษรปัลลวะทมิฬ ตามลำดับ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นแบบให้มีอักษรไทยขึ้นที่รัฐละโว้ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อราวหลัง พ.ศ.๑๗๐๐
อักษรขอมเขียนภาษาไทย ต้องใช้อย่างกว้างขวางและใช้อย่างคุ้นเคยอยู่นานนับร้อยๆ ปี ถึงเริ่มปรับใช้ให้เป็นของตัวเองเพื่อถ่ายเสียงสัญลักษณ์ตามเสียงที่ใช้ในภาษาประจำวันอย่างแท้จริง ส่วนใดที่ไม่มีในอักษรขอมก็คิดเพิ่มเติมเข้ามา แต่สิ่งที่ใช้จนเคยชินแล้วก็คงรูปเดิมไว้ เช่น ฎ ฏ ฐ และ ญ เป็นต้น จะเห็นว่ารูปอักษรยังมีเชิงและศกอย่างอักษรขอมติดมา ยิ่งเลข ๑ ถึง ๙ ได้จากเลขขอมหรือเลขเขมรชัดๆ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรียกกันต่อมาว่าอักษรไทย
 
อักษรไทยจากละโว้ขึ้นไปสุโขทัย
        อักษรไทยที่มีอักษรขอมเป็นรากฐานสำคัญ คงใช้เวลาวิวัฒนาการอยู่นานพอสมควรกว่าจะได้รูปแบบลงตัวเป็นที่ยอมรับทั่วไป รวมทั้งต้องเอาแบบจากอักษรอื่นๆ มาเพิ่มพูนด้วย เช่น อักษรมอญ ลังกา เป็นต้น จากนั้นก็ค่อยๆ แพร่หลายจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปถึงบ้านเมืองห่างไกล เช่น ขึ้นไปทางรัฐสุโขทัยทางลุ่มน้ำยม-น่าน ดังมีร่องรอยความทรงจำอยู่ใน พงศาวดารเหนือ เรื่องพระร่วงอรุณกุมารเมืองสวรรคโลก ทำพิธีลบศักราชแล้ว "ทำหนังสือไทย" ด้วย
บ้านเมืองแว่นแคว้นหรือรัฐต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยรัฐละโว้ ต่างยอมรับความรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการของเมืองละโว้ มีพยานสนับสนุนเรื่องนี้อีกในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา "ครั้นชนมายุได้ ๑๖ ปี ไปเรียนศิลปในสำนักพระสุกทันตฤาษี ณ กรุงละโว้อาจารย์คนเดียวกับสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย"
ร่องรอยและหลักฐานทั้งหมดนี้ย่อมสอดคล้องกับวิวัฒนาการของอักษรไทยที่มีขึ้นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะทางรัฐละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ แล้วแพร่หลายขึ้นไปทางลุ่มน้ำยม-น่าน ที่เป็นรัฐสุโขทัย จึงทำจารึกคราวแรกๆ ขึ้น คือจารึกวัดศรีชุม อันเป็นเรื่องราวทางศาสนา-การเมืองของพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ นั่นแล

อักษรไทย และคนไทย
        ตัวอักษร ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะร่วมกันของผู้คนชนเผ่าต่างๆ ขึ้น แล้วเกิดรวมตัวกันมากขึ้นเรียกต่อมาว่า ชนชาติ ราวหลัง พ.ศ.๑๕๐๐ มีชื่อสมมุติเรียกตัวเองต่างๆ กันว่า มอญ เมื่อมีตัวอักษรมอญ กับ เขมร เมื่อมีตัวอักษรเขมร
อักษรไทยวิวัฒนาการจากอักษรขอม เมื่อราวหลัง พ.ศ.๑๗๐๐ บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาในรัฐละโว้-อโยธยา แล้วแพร่หลายขึ้นไปถึงรัฐสุโขทัยก่อน หลังจากนั้นได้กระจายไปยังบ้านเมืองแว่นแคว้น "เครือญาติ" ในตระกูลไทย-ลาวอื่นๆ
คำที่ออกเสียงว่า ไท หรือ ไต มีอยู่ก่อนแล้วในกลุ่มชนที่พูดตระกูลภาษาลาว หรือ "ตระกูลลาว" (ชื่อนี้ก็สมมุติเรียกกันภายหลัง) แล้วมีความหมายเดียวกันหมดว่าคน (ที่ต่างจากสัตว์) ชนกลุ่มนี้เป็นประชากรตั้งหลักแหล่งอยู่ร่วมกับชนกลุ่มอื่นๆ บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อได้รับอารยธรรม "ทวารวดี" ต่อเนื่องถึงอารยธรรมมอญและเขมร จนเติบโตขึ้นเป็นชนชั้นปกครองในรัฐละโว้-อโยธยา แล้วพัฒนาตัวอักษรของตัวเองขึ้นมา เลยสมมุติชื่อเรียกกลุ่มของตนว่า "ไทย"
อาจเป็นไปได้ว่าคนกลุ่มอื่นเรียกคนกลุ่มนี้ตามคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วว่าไทหรือไต แต่เขียนเป็นอักษรขอม ภาษาบาลีว่า ไทย ต่อมาคนกลุ่มนี้เลยรับไว้เป็นชื่อเรียกตัวเองไปด้วย ดังมีชื่อในวรรณคดียุคต้นๆ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนกาพย์เบิกโรง ยังเขียนว่า ไท ไม่มี ย ตามหลัง
น่าสังเกตว่าพวกที่รับตัวอักษรไทยจากรัฐละโว้-อโยธยา มักเรียกตัวเองว่าเป็นคนไท หรือไทย เช่น รัฐสุโขทัย แต่ดินแดนอื่นรัฐอื่นที่รับตัวอักษรจากที่อื่นจะไม่เรียกตัวเองเป็นคนไทหรือไทย เช่น รัฐล้านนากับรัฐล้านช้าง รับตัวอักษรมอญไปปรับใช้ เรียกตัวเองว่าลาว หมายถึงท่านหรือผู้เป็นใหญ่ แต่รัฐล้านนาถูกทำให้เป็นไทยเมื่อหลังแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ แล้วถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ส่วนรัฐล้านช้างยังเป็นคนลาวและประเทศลาว สืบจนทุกวันนี้

แหล่งอ้างอิง : อ่านแผ่นดินท้องถิ่นเรา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๓๒๒ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๘
 
สร้างโดย: เด็กหญิง บุษบา วิสัชนาม โรงเรีนรสตรีศรีสุริโยทัย กทม 10120